เราต้องขอยอมรับตรงนี้เลยว่าตอนแรกเราคาดหวังที่จะได้ทิปส์เด็ดๆในการเดินทางแบบประหยัดในสไตล์ของแบ็คแพ็คเกอร์บ้างไม่มากก็น้อย แต่หลังจากที่ได้อ่านจนจบรวดเดียวภายในเวลาไม่กี่ชม. เราก็พบว่ามันไม่ใช่เลย แต่มันก็ทำให้เราก็หลงรักเข้ากับวิธีการเล่าเรื่องของปอเข้าอย่างจัง เขาใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบเขียนไดอารีหรือบันทึกประจำวัน เป็นการสนทนากับผู้อ่านด้วยระยะการวางตัวเหมือนเป็นเพื่อนกัน เพื่อนที่อาจจะยังไม่สนิทกันมากนัก แต่ก็เป็นเพื่อนที่สามารถบอกเล่าความในใจแก่กันได้ประมาณนึง เราถูกชะตากับการเล่าเรื่องของเขามาก ในบางทีที่เขาไม่รู้จะเอาเนื้อเรื่องตรงนั้นแทรกเข้าไปในลำดับเวลาตรงไหนดี เขาก็พูดออกมาทื่อๆว่าเขาไม่รู้จะไปเล่าตรงไหนนะ งั้นขอเล่ามันดื้อๆตรงนี้แล้วกัน เราว่ามันดูจริงใจดี มันทำให้เราต้องหัวเราะออกมากับตัวเองเบาๆ หรือแม้แต่เรื่องราวพื้นๆของพ่อค้าที่ขนของหนีภาษีบนรถไฟ ที่คนไทยสามารถพบเห็นได้ในรถไฟสายใต้บ้านเรา ปอก็สามารถเล่าผ่านมุมมองในแบบของเขาที่ทำให้เราเกิดอาการซึมและอึนได้ประมาณนึงเลย นอกจากนี้ยังมีถ้อยคำที่ถ่ายทอดมุมมองและแง่มุมความคิดหลายๆอย่างผ่านประสบการณ์ในการเดินทางและการพบเจอผู้คนใหม่ๆมากหน้าหลายตา ที่เราอ่านแล้วรู้สึกว่าเราก็เคยมีความคิดแบบนั้นเหมือนกัน หรือบางทีก็เป็นมุมที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อนว่าถ้าเราต้องตกในสถานการณ์แบบเดียวกันกับเขา เราจะมีท่าทียังไงต่อสิ่งนั้น
เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้เราชอบวิธีการเล่าเรื่องของปอน่าจะเป็นเพราะความเป็นอาร์ทติสที่อยู่ในตัวเขาเป็นแน่แท้ เขาเรียนจบปริญญาด้านศิลปะ อีกทั้งยังเรียนดนตรี เคยทำงานเป็นสถาปนิก และสุดท้ายก็เดินตามความฝันของตัวเองโดยการเข้าหุ้นกับเพื่อนเปิดแจ๊สบาร์ เท่าที่เรารู้มานี่คือผลงานเขียนที่ได้รับการตีพิมพ์ชิ้นแรกของเขา แต่ด้วยความเป็นอาร์ทติสในตัวนี่แหละที่ทำให้ลีลาการเขียนจับใจเราเป็นอันมาก
สิ่งที่เราได้รับจากลมใต้ปอด อาจจะไม่ใช่ทิปส์เด็ดๆในการเดินทางแบบประหยัด อาจจะไม่ใช่รายละเอียดในการซื้อตั๋วรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย หรือไม่ใช่การรีวิวโฮสเทลในเมืองจีนและมองโกเลีย แต่มันเป็นมุมมองใหม่ในการมองชีวิตผู้คนรอบตัวที่เราเคยมองข้ามไป รวมทั้งการมองย้อนเข้าไปในหัวใจตัวเองด้วยเหมือนกัน
No comments :
Post a Comment