Thursday, 31 July 2014

Babyji



Babyji เป็นนิยายจากนักเขียนอินเดียค่ะ เป็นเล่มที่เราตั้งความหวังไว้สูงมาก แต่ก็ ... ไม่อยากจะใช้คำว่าผิดหวังเลยจริงๆ แต่เอาเป็นว่าใกล้เคียงแล้วกัน เพราะอะไรเดี๋ยวจะสาธยายให้ฟังค่ะ โดยปกติประมาณสองวีคก่อนจะมีงานหนังสือ เราก็จะชอบหาข้อมูลดูว่ามีหนังสืออะไรที่เราต้องการซื้อหรือเปล่า แล้วเราก็ไปเจอเข้ากับเล่มนี้ค่ะ เป็นงานแปลของสำนักพิมพ์สันสกฤต ผู้แต่งเป็นนักเขียนหญิงชาวอินเดียชื่อ Abha Dawesar ในเวบของสำนักพิมพ์ให้คำบรรยายเนื้อหาของนิยายเล่มนี้ไว้อย่างน่าสนใจมากๆว่า 

เรื่องราวของสาวรุ่นวรรณะสูงในอินเดีย ที่โรงเรียนเธอคือประธานนักเรียน แต่ที่บ้านเธอแอบอ่าน“กามสูตร” ขนบประเพณีกับการแบ่งชั้นวรรณะ ทำให้เธอต้องค้นหาอิสรภาพในสิ่งที่ตัวเอง ‘อยากทำ’ไม่ใช่สิ่งที่เธอ ‘ต้องทำ’ เธอผูกสัมพันธ์กับรุ่นพี่ เธอมีสาวใช้คู่ใจยามกลางคืน เธอเป็นที่ปรารถนาของเพื่อนผู้ชายทั้งชั้น แม้กระทั่งพ่อของเพื่อน! เบบี้จี จะพาคุณไปรู้จักสังคมอินเดียวันนี้

อ่านแล้วเป็นยังไงคะ น่าสนใจรึเปล่า แต่สำหรับเราเนื้อหาอะไรประมาณนี้เป็นแนวที่เราชอบมาก ถ้าเป็นหนังหรือหนังสือเราจะชอบประเด็นที่พูดถึงการไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง การที่ต้องใช้ชีวิตตามกรอบสังคมประเพณีทั้งที่ใจอยากแหกกรอบใจจะขาด กับเรื่องย่อของหนังสือเล่มนี้ก็เหมือนกัน ยิ่งตรงที่บอกว่ามีสาวใช้คู่ใจยามกลางคืน ทำให้เรานึกไปว่านี่คงจะเป็นนิยายเลสเบี้ยนหรือไบเซ็กช่วลแน่ๆ ไหนจะหน้าปกที่มีขาเรียวสวยกับกำไลข้อเท้าแสนเย้ายวนก็พาให้เราคิดแบบนั้นเหมือนกัน เลสเบี้ยน/ไบฯมั่วเซ็กซ์ในสังคมอนุรักษ์นิยมแบบอินเดีย อาห์ แค่คิดก็แซบแล้ว ทั้งหมดทั้งปวงนี้เลยทำให้เราอยากอ่านและตั้งความหวังไว้มาก

พอได้อ่านจริงๆมันไม่ใช่อะกิฟ ยัยเด็กตัวเอกนี่ภาพเลือนลางมากในความรู้สึกเรา บุคลิกไม่ชัดเจนเลยว่ามีรูปพรรณสันฐานสูงต่ำดำขาวรึอ้วนผอมยังไง จากคำโปรยในเวบที่ได้อ่านมาตอนแรกทำให้คิดไปเองว่าเด็กนี่เป็นเลสเบี้ยน แต่การพรรณาถึงบุคลิกรูปร่างหน้าตาที่ไม่ชัดเจนที่แค่บอกว่าผมสั้นใส่แว่น บวกกับบทพูดและพฤติกรรมหลายๆอย่างที่แสดงความคิดว่าอยากเป็นผู้ชายทำให้คนอ่านอย่างรู้สึกว่าเด็กนี่น่าเป็นทอมซะมากกว่าที่จะเป็นเลสฯ ซึ่งภาพทอมก็ไม่ชัดอีกอย่างที่บอก เราอ่านแล้วจินตนาการตามไม่ออกเลยว่าเป็นทอมกรังๆแบบเด็กเรียนหรือทอมเท่ระดับเนทไอดอลหรืออะไร นอกจากนั้นตัวละครอื่นๆก็ไม่มีภาพที่ชัดเจนเหมือนกัน หนำซ้ำแล้วยัยเด็กทอมนี่มีอะไรกับคนง่ายมาก โดยไม่มีการอธิบายถึงเหตุผลที่ชัดเจนมารองรับเท่าที่ควร มันเลยทำให้เสียคุณค่าของแมสเสจจริงๆที่คนแต่งต้องการจะสื่อสาร จากคำโปรยที่เราอ่านในเวบก็ดีหรือหลังปกก็ดีทำให้เรารู้สึกว่าแก่นของเรื่องดีมากนะ น่าสนใจมากๆ ออกจะเป็นวรรณกรรมแนวเฟมินิสต์หรืออะไรทำนองนั้นเลย 

แต่ยัง ... ความรู้สึกแย่ยังไม่หมดแค่ตรงนี้จ้า คือมันจบแบบปาหมอนมากอะ อ่านแล้วงงมากๆว่าคำพูดสุดท้ายมันแปลว่าอะไร สื่อถึงอะไร ทันทีที่อ่านจบเราสงสัยว่ามันพิมพ์หน้าขาดไปรึเปล่าวะ น่าจะมีอีกอย่างน้อย 2-3 หน้าปะวะ จะไปโพสต์ถามในเพจเฟซบุคของสำนักพิมพ์เลยดีมั้ยว่าหน้ามันขาดหรือมันจบแบบนี้จริงๆ หรือจะเช็คกับใครดี เราก็เลยเข้าไปเช็ครีวิวใน goodreads ดู เจอฝรั่งคนนึงบ่นเหมือนเราเด๊ะเลยว่าทันทีที่นางอ่านจบ สิ่งที่ทำคือเข้ามาในเวบเพื่อดูรีวิวให้หายสงสัยว่าหน้าหนังสือไม่ได้ขาดหายไปแน่นะ จบได้หงุดหงิดมาก จนเราแทบจะไปโพสต์ที่เพจของสำนักพิมพ์ให้ช่วยอธิบายตอนจบแล้วอะ คือมันไม่ใช่การจบแบบปลายเปิดด้วยนะ มันเป็นคำพูดหรือจะเรียกว่าอุทานก็ได้มั้งคำนึงของเด็กทอมนั่นที่เป็นภาษาฮินดี แถมเขียนมันทับศัพท์เป็นภาษาไทยอีก ใครไม่งงก็แปลกอะ แล้วก็จบลงไปห้วนๆดื้อๆตรงนั้นเลย จบแบบทิ้งเราอ้าปากหวอแล้วร้องออกมาว่า WTF จริงๆ

ถ้าจะให้สรุปนี่ลำบากนะ คือโทษใครไม่ได้เลยจริงๆน่ะ จะโทษคนแต่งว่าแต่งไม่ดี บอกตรงๆว่าพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะเอาเข้าจริงแล้วเราชอบแก่นของเรื่องและสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารมากๆ แต่อาจจะไปพลาดที่วิธีการเรียบเรียงเรื่องหรือบรรยายพื้นนิสัยและความคิดของตัวละคร เอ๊ะ หรือเราเข้าใจผิดไปเองเกี่ยวกับแมสเสจเลยคาดหวังมากไปหรือเปล่า นี่ก็ทำให้ลังเล หรือจะโทษสำนักพิมพ์ที่โปรโมทดีเกินจริง ก็ยิ่งไม่ได้อีก เพราะเท่าที่อ่านคำโปรยเราเชื่อว่าหลายๆคนที่พอจะมีประสบการณ์ชีวิตอยู่บ้างก็ต้องมีภาพของแมสเสจในหัวไม่ต่างจากเราหรอก เราไม่คิดว่าเราจะคิดไปเองคนเดียวว่าหนังสือนี้พยายามจะบอกอะไรกับคนอ่าน ไอ้ครั้นจะโทษผู้แปลว่าแปลออกมาไม่ได้อรรถรสเหรอ ก็ไม่ใช่อีก เพราะเท่าที่อ่านเราก็ไม่ได้คาใจกับสำนวนการแปลหรืออะไร จะบอกว่าแปลสำนวนดีแต่อาจจะแปลความหมายผิดเพี้ยน เราเลยไม่สามารถเข้าใจประเด็นได้ตามที่คนเขียนอยากจะสื่อ อันนี้ก็พิสูจน์ไม่ได้อีก เพราะไม่เคยอ่านฉบับจริง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขียนเป็นอังกฤษหรือฮินดี (เข้าใจว่าน่าจะอังกฤษ เพราะ Dawesar ไม่ได้พำนักในอินเดียนานแล้วและมีสามีเป็นต่างชาติ)  เอาเป็นว่าเรียกแบบสั้นๆว่าเป็นหนังสือที่ดีแต่ดีไม่สุดก็แล้วกัน

อ่านอะไรต่อดี >> The God of Small Things by Arundhati Roy, Funny Boy by Shyam Selvadurai, and Nobody Can Love You More: Life in Delhi’s Red Light District by Mayank Soofi


No comments :

Post a Comment

Copyright © 2014 That bitch reads!

Designed By Darmowe dodatki na blogi